ดนตรีและแฟชั่น นับว่าเป็นสิ่งที่หลายคนใช้แสดงออกถึงความเป็นตัวตน
เนื่องจากเป็นรูปแบบของศิลปะที่ผู้คนสามารถมองเห็นหรือรู้สึกได้ชัดเจน อีกทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนผ่านเวลาในยุคต่าง ๆ อย่างเช่นกางเกงขากระดิ่งของชาวฮิปปี้ช่วงปี ค.ศ. 1969 กับกางเกงยีนส์ขาดรุ่งริ่งในยุคปี ค.ศ. 1990 เป็นต้น
มาดูกันดีกว่าว่าตั้งแต่ยุค 20 จนถึงยุคปัจจุบัน ความข้องเกี่ยวระหว่างดนตรีและแฟชั่นนั้นเปลี่ยนแปลงกันมาอย่างไรบ้าง
ยุค 20s - Flapper Jazz
เรียกได้ว่าเป็นยุครุ่งเรืองของดนตรีแจ๊ซ และความเป็นอิสระของเพศหญิง ด้วยบรรยากาศของความรื่นเริงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้จบลง ทำให้ผู้คนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เศรษฐกิจฟื้นตัว ทำให้ดนตรีแจ๊ซซึ่งเป็นดนตรีที่มีความสนุกสนานนั้นได้รับความนิยมในหมู่วัยรุ่นอเมริกันอย่างล้นหลาม รวมไปถึงแฟชั่นครองตลาดอย่าง ‘แฟลปเปอร์' ที่แสดงถึงความอิสระของเด็กสาว กระโปรงสั้นกรอมเข่า ตัดผมสั้น สามารถขยับตัวเต้นตามจังหวะเพลงแจ๊ซได้อย่างคล่องตัว
ยุค 50s - Teen Pop Rock ’n Roll
หลังจากที่โทรทัศน์ได้ถูกคิดค้นขึ้นช่วงปลายยุค 20 และเริ่มเข้าถึงบ้านเรือนต่าง ๆ มากขึ้นในช่วงปลายยุค 40 ทำให้วัยรุ่นในช่วงยุค 50 เริ่มคลั่งไคล้เหล่าดาราและนักร้องที่พวกเขาเห็นผ่านจอทีวี ซึ่งช่วงนั้นคือยุคของราชา rock and roll อย่าง Elvis Presley ทำให้เกิดการแต่งตัวตามสไตล์ของเขาในหมู่วัยรุ่นยุคนั้น เช่นเดียวกันกับสไตล์เพลง rock and roll ที่พัฒนามาจากเพลงบลูส์ แจ๊ซ แฟชั่นยุค 50 ก็พัฒนามาจาก flappers ในยุค 20 โดยมีความวัยรุ่น ความสดใสสไตล์ป๊อป ๆ มากขึ้น
ยุค 60s
60s - MODernist
มาที่เทรนด์จากฝั่งอังกฤษกันบ้าง เรียกได้ว่าเป็นยุคของดนตรีแบบ modern-jazz รวมถึงมีการผสมผสานกลุ่มคนที่ชอบ ska, R&B และ soul ที่ค่อนข้างทันสมัยในยุคนั้นอีกด้วย วัยรุ่นในยุคนี้ หรือที่เรียกกันว่าชาว ‘Modernist’ นั้น มีความชื่นชอบในไลฟ์สไตล์ของชาว ‘Beatnik’ จากช่วงยุค 50 เลยมีการลอกเลียนแบบซึ่งก็รวมถึงแฟชั่นด้วยเช่นกัน โดยมีการปรับลดดีเทล เพิ่มสีสัน ดูทันสมัยมากขึ้น จนมีแบรนด์เสื้อผ้าวัยรุ่นถือกำเนิดขึ้นในคอนเซปต์ ‘Beatnik-meets-Modern’ และกลายเป็นที่นิยมเป็นอย่างมากในหมู่ชาว Mods
60s - Hippie Folk
ตัดภาพมาที่อีกฝั่งทวีปอย่างอเมริกา ที่ในยุคนั้นเด็กหนุ่มจำนวนมากถูกเกณฑ์ทหารเพื่อไปสู้รบในสงครามเวียดนาม ทำให้เหล่านักดนตรีจำนวนมากเขียนเพลงเพื่อต่อต้านการกระทำดังกล่าว อีกทั้งนักดนตรีและกลุ่มแฟนเพลงเองก็เริ่มมีการทดลองยาเสพติดประเภทหลอนประสาท เช่น LSD และ peyote ทำให้ทั้งดนตรีและแฟชั่นพร้อมใจกันออกมาในสไตล์ trippy อย่างเสื้อมัดย้อม ลายดอก ชายรุ่ย ๆ เครื่องประดับทำมือ รวมถึงกางเกงขากระดิ่งสุดฮิตประจำยุค 60 นั่นเอง
ยุค 70s
70s - Fun Disco
ต่อเนื่องมาในยุค 70 ที่เพลง dance สนุก ๆ ในสไตล์ disco เริ่มขึ้นมาจากใต้ดินแล้วเข้ามาอยู่ในกระแสมากขึ้น ส่งอิทธิพลให้เสื้อผ้าในยุคนั้นเริ่มปรับจากกระแสฮิปปี้ดิบ ๆ พริ้ว ๆ ยุค 60 ให้มีความกระฉับกระเฉงและดูทันสมัยมากขึ้นให้เหมาะกับการเต้นเพลง disco แต่ยังคงไว้ซึ่งกลิ่นอายฮิปปี้อย่างกางเกงขากระดิ่งที่ยังได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องในยุคนี้
70s - Glam Rock Punk
กระแสของการปลดปล่อยตัวตน การเรียกร้องและแสดงออกถึงความอิสระยังคงมีอย่างต่อเนื่องจากยุค Mods เป็นต้นมา ดนตรีแบบ aggressive rock เริ่มเข้ามามีบทบาทในยุคนี้และถูกเรียกว่าเป็นสไตล์ punk นั่นเอง ด้วยความที่เป็นแนวดนตรีที่มุ่งเน้นในด้านอิสระของการแสดงออกถึงความเป็นปัจเจกบุคคล ทำให้เหล่าวัยรุ่นจำนวนมากต่างหลั่งไหลเข้ามาเข้าร่วมวิถีชาวพังก์กันอย่างล้นหลาม โดยสัญลักษณ์การแสดงออกผ่านแฟชั่นของพวกเขาที่เห็นได้ชัดคือ เสื้อแจ็คเก็ตหนัง ทำผมสีสดใสหรือจัดแต่งทรงให้แปลกและโดดเด่น เครื่องประดับวิบวับ แต่งหน้าหนัก ๆ เน้นโทนสีดำให้ดูแตกต่างจากกระแสหลักในช่วงนั้น ถัดจากนั้นไม่นาน การมาถึงของ special effect เริ่มเข้ามามีบทบาทบนหน้าจอทีวี ทำเกิดการปรับสไตล์แฟชั่นให้มีความเล่นกับแสงสีมากขึ้น ที่ผสมผสานความ sci-fi มีศิลปินและวงดนตรีอย่าง David Bowie, Marc Bolan, และ วง Kiss นำเอาสไตล์นี้มาเผยแพร่จนกลายมาเป็นกระแส glam rock ในที่สุด
ยุค 80s - Goth Post-Punk
เรียกได้ว่าเป็นกระแสที่เป็นลูกหลงมาจาก glam rock โดยดนตรีประเภท goth เริ่มต้นจากความเป็น death rock เข้ม ๆ หม่น ๆ ที่รวมเอาดนตรีแบบ synthpop, new wave และอื่น ๆ มารวมกัน ซึ่งกลุ่มชาว Gothic นั้นจะมีรูปแบบไลฟ์สไตล์ที่ชัดเจนคือ นิยมแต่งกายด้วยสีดำล้วน ชอบดูหนังสยองขวัญ แต่งหน้าซีดขาวกับลิปสติกดำ และมักหลงใหลไปกับด้านมืดของชีวิตนั่นเอง โดยแฟชั่นที่นิยมจะออกแนวแม่มด มีกลิ่นอายของความหลอนและน่ากลัวปนอยู่สูง อย่างการแต่งตัวของนักร้อง Tim Buton เป็นต้น
ยุค 90s
90s - Gritty Grunge
มาถึงยุค 90 ยอดฮิตกันบ้าง ยุคที่ดนตรีประเภท grunge ได้เข้ามาอยู่ในกระแสมากขึ้น โดยเริ่มเป็นที่นิยมมาจากที่ Kurt Coban จากวง Nirvana ได้ระบายความอัดอั้นจากระบบในสังคมผ่านเพลงและด้วยความที่มันสะท้อนใจวัยรุ่นยุคนั้นได้เป็นอย่างดี ทำให้เริ่มเกิดความนิยมมากขึ้น มีวงดนตรีแนว grunge ที่ยิ่งใหญ่มากมายในยุคนั้น โดยดนตรีจะเป็นแนวผสมผสานระหว่าง punk rock และ heavy metal เครื่องแต่งกายจะเป็นแนวเซอร์ ๆ ผมยาวยุ่ง ใส่เสื้อยืดเก่า เสื้อลายสก็อตตัวใหญ่ กางเกงยีนส์ขาด ๆ (เนื่องจากศิลปินยุคนั้นไม่ได้มีเงินมากนัก มักใส่เสื้อผ้ามือสองหรือเสื้อของพ่อแม่นั่นเอง) กับรองเท้าผ้าใบ Converse Chuck Taylor ตามสไตล์หนุ่มเคิร์ท หรือรองเท้า Dr.Martens ที่ได้รับความนิยมเช่นกัน ซึ่งในช่วงปี 2021-2022 สไตล์นี้ก็กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง
90s - Urban Hip Hop
จากช่วงปลายยุค 80 จนถึงต้น 90 ที่กระแสฮิปฮอปดังระเบิดขึ้นมา วัฒนธรรมฮิปฮอปได้กระจายอยู่ทั่วไปในหมู่วัยรุ่นอเมริกาเมืองใหญ่จนกระจายไปทั่วประเภท ไม่ว่าจะเป็นการ rap battles หรือเต้น breakdance ก็มีให้เห็นทั่วไปตามจุดรวมตัวต่าง ๆ วัยรุ่นเริ่มเลียนแบบแฟชั่นของแร็ปเปอร์ ไม่ว่าจะเป็น กางเกงโคร่ง ๆ ที่มองเห็นโลโก้บนขอบกางเกงชั้นใน เสื้อกีฬาหลวม ๆ หมวกบักเก็ต และสร้อยทองใหญ่ ๆ เป็นต้น รวมทั้งแบรนด์เสื้อผ้ากีฬาต่าง ๆ เริ่มนำศิลปินฮิปฮอปมาเป็นคนโปรโมทมากขึ้น ทำให้ยิ่งสร้างความนิยมมากขึ้นนั่นเอง
2010s - Underground EDM
เมื่อกระแสของซาวด์ electric ที่เคยอยู่แต่ในคลับใต้ดินเริ่มขึ้นมาอยู่ในกระแสนิยม มีผู้จัดปาร์ตี้รายใหญ่ปลุกกระแสความนิยมในดนตรีแนว Electric Dance Music หรือ EDM ให้ดังกระหึ่มทั่วโลก ซึ่งมาพร้อมกับไลฟ์สไตล์แบบชาวปาร์ตี้แบบจัดเต็ม โดยสไตล์การแต่งตัวจะออกมาแนวสีนีออนฉูดฉาด กางเกง UFO pants บิกินีตัวจิ๋ว และ ถุงน่องที่มีลูกเล่น เป็นต้น
2020s - Gender-Bending Era
มาถึงยุคปัจจุบัน ที่การแสดงออกถึงตัวตนเป็นเรื่องที่สังคมเปิดกว้างมากขึ้น และเส้นขอบเขตของการแบ่งเพศได้เลือนหายไปเรื่อย ๆ มีความลื่นไหลของคำนิยามด้านเพศสภาพต่าง ๆ อีกทั้งมีศิลปินป๊อปมากมายที่ได้นำแฟชั่นการผสมผสานของเสื้อผ้าแบบไม่จำกัดเพศออกมาให้เป็นที่นิยมในวงกว้าง เช่น กระโปรงและสร้อยไข่มุกที่ถูกนำมาสวมใส่กันในหมู่วัยรุ่นชาย หรือชุดสูททักซิโ้ด้ของศิลปินหญิง เป็นต้น ที่ไม่ว่าจะเป็น Dua Lipa, Arianna Grande, Lil Nas และ Harry Styles นำมาสวมใส่ ซึ่งน่าสนใจและน่าจับตามองต่อไปมาก ๆ สำหรับเทรนด์นี้